การเปิดเผยสภาวะการติดเชื้อเอชไอวีให้แก่ เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้อื่น
โดยปกติ เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี จะไม่แพร่เชื้อให้แก่ผู้ใกล้ชิด จึงไม่เป็นอุปสรรคในการทำกิจวัตรประจำวัน และกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นแพทยสภาจึงแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสภาวะการติดเชื้อของเด็กให้ผู้อื่นทราบ เว้นแต่ในกรณีที่อาจเกิดการสัมผัสเลือด หรือน้ำเหลือง โดยตรง เช่น เด็กกัดกัน เป็นต้น
เด็กเล็กที่ติดเชื้อเอชไอวี มักไม่ทราบสภาวะการติดเชื้อของตนเอง เมื่อเด็กโตขึ้น ควรได้รับรู้การวินิจฉัยโรคของตนเอง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับโรค การปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง เพื่อที่เด็กจะได้มีการปรับตัวได้ดีขึ้นต่อการเจ็บป่วยเรื้อรัง มีทัศนคติที่ดีต่อโรคที่ตนเป็นอยู่ เข้าใจถึงความจำเป็นในการกินยา ส่งผลให้มีวินัยในการกินยามากขึ้น
การเปิดเผยสภาวะการติดเชื้อควรกระทำก่อนที่เด็กจะเข้าสู่วัยรุ่น และเริ่มมีเพศสัมพันธ์ เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มเติม และการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น ทั้งนี้ควรบอกเมื่อใดขึ้นอยู่กับความพร้อมของเด็ก และครอบครัวเป็นรายๆไป
กระบวนการเปิดเผยสภาวะการติดเชื้อเอชไอวี ของตนเองให้เด็กรับทราบ เป็นขั้นตอนที่ควรทำอย่างระมัดระวัง ต้องมีการเตรียมความพร้อม และควรทำอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถทำได้ในครั้งเดียว หลังจากมีการเปิดเผยสภาวะการติดเชื้อแล้ว จะต้องมีการประเมิน ติดตามเด็กและครอบครัวต่อไป
เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามในการปฏิบัติตัวแตกต่างจากเด็กอื่นหรือไม่
โดยทั่วไปเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี ไม่มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามในการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่แตกต่างจากเด็กที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่จะต้องเน้นในเรื่องอาหารและน้ำที่สุก สะอาด ไม่ควรกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เชื้อเอชไอวีจะไม่ติดต่อผ่านทางการสัมผัสในชีวิตประจำวัน เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี สามารถไปสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสม สำหรับการเล่นกีฬา ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องปะทะกัน ซึ่งอาจมีการเกิดบาดแผล และสัมผัสเลือดได้ เช่น ชกมวย มวยปล้ำ รักบี้ เป็นต้น
เมื่อเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี เข้าสู่วัยรุ่น ผู้ดูแลควรเตรียมความพร้อมอย่างไร
วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ในด้านของการเจริญเติบโตเด็กผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน ส่วนเด็กผู้ชายจะสามารถหลั่งน้ำอสุจิได้ เด็กควรได้รับการสอนสุขลักษณะอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือก่อนและหลังจากเข้าห้องน้ำ ผ้าอนามัยที่ใช้แล้ว วัสดุที่ปนเปื้อนเลือดหรือน้ำอสุจิ ควรห่อกระดาษหรือใส่ถุงก่อนทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด เป็นต้น นอกจากนั้นควรเน้นในเรื่องของการไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หากมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ส่วนในด้านของจิตใจ อารมณ์ และการปรับตัวในสังคม เด็กที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อาจมีปัญหาในเรื่องของพฤติกรรม การกินยาอย่างสม่ำเสมอ ความมั่นใจในตนเอง ผู้ดูแลควรคอยสังเกต และเป็นที่ปรึกษาให้แก่เด็กอย่างใกล้ชิด รวมทั้งอาจช่วยวางแนวทางในการเลือกอาชีพด้วย
ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีนั้น โดยทั่วไปไม่มีข้อจำกัดในการทำอาชีพใด ๆ ยกเว้นควรหลีกเลี่ยงในบางอาชีพ ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสปนเปื้อนเลือดโดยตรงได้ เช่น แพทย์หรือพยาบาลที่ทำการผ่าตัด เป็นต้น